5 เมืองที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม
อีกไม่นาน วันคุ้มครองโลกซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 22 เมษายนจะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ซึ่งไม่เพียงเป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมฉลองให้แก่โลกที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังจัดขึ้นเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหารุนแรงที่กำลังมีผลกระทบต่อโลกอีกด้วย
แต่เราไม่ควรให้ความเคารพโลกอันแสนมหัศจรรย์ของเราเพียงแค่วันใดวันหนึ่งเท่านั้น เราควรจะให้เกียรติและซาบซึ้งในคุณค่าของธรรมชาติรอบๆ ตัวเราในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นต้นสนซีคัวยายักษ์ที่ผลิตก๊าซออกซิเจนให้แก่โลกมานานนับพันปี ไปจนถึงดินอนุภาคจิ๋วที่อัดแน่นไปด้วยแร่ธาตุ ซึ่งช่วยค้ำจุนสิ่งมีชีวิตหลายพันล้านตัวที่อาศัยอยู่ในผืนดิน
จากมุมมองเล็กๆนี้ เราจะหันมามองภาพรวมด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนวันคุ้มครองโลก เราจะมาดูเมือง 5 แห่งที่ประกาศความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการช่วยลดขยะและมลพิษ
ซานฟรานซิสโก
ซานฟรานซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำที่สุดหลายแห่งในโลกอย่าง Facebook และ Google เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 ที่มีการประกาศว่าขยะร้อยละ 80 ของซานฟรานซิสโกจะถูกส่งไปยังสถานที่รีไซเคิลแทนที่จะนำไปทิ้งที่กองขยะ ที่นี่ก็ได้กลายเป็นเมืองแห่งการกำจัดขยะอย่างยั่งยืนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา
และไม่เพียงแค่นั้น ในพื้นที่เบย์แอเรีย (Bay Area) มีอาคารหลายร้อยแห่งที่ได้รับการรับรองความเป็นผู้นำในด้านพลังงานและการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) ซึ่งหมายความว่า อาคารเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการจัดการผลผลิตจากพลังงานของตนเองเป็นอย่างมาก อ้อ แล้วอย่าลืมวัฒนธรรมด้านอาหารการกินด้วย อาหารวีแกนเป็นที่นิยมมากในเมืองแห่งความรักแห่งนี้ ผู้คนที่นี่สนใจการเพาะปลูกในท้องถิ่นและอาหารจากแหล่งที่ยั่งยืน
รัฐอธิปไตยแห่งนี้ดูเหมือนจะแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียค่อนข้างมาก สิงคโปร์เป็นเกาะเล็กๆ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของสถาปัตยกรรมที่ล้ำยุคและนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ พื้นที่สีเขียวที่โดดเด่นที่สุดของที่นี่มีชื่อว่า การ์เด้น บาย เดอะ เบย์ (Gardens By the Bay) โดยเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมหอสูงที่ออกแบบเป็นรูปต้นไม้ยักษ์ ซึ่งสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างวันเพื่อเก็บไว้ใช้ในการแสดงแสงสีสดใสในยามค่ำคืน ‘ต้นไม้’ เหล่านี้ยังเป็นที่อาศัยของไม้เลื้อยหลายพันต้นอีกด้วย
สวนแห่งนี้เป็นต้นแบบของ “อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ซึ่งขยายตัวไปทั่วทั้งเมือง โดยมีการใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบอนุรักษ์น้ำ พื้นที่ทำงานร่วมกันและสวนดาดฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของการวางผังเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ
แวนคูเวอร์
แวนคูเวอร์อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของรัฐบริติชโคลัมเบีย โดยมีผืนมหาสมุทรแปซิฟิกที่ส่องประกายระยิบระยับอยู่ทางฟากหนึ่ง และยอดเขาร็อกกี้ที่ปกคลุมด้วยหิมะในอีกฟากหนึ่ง เหตุผลที่แวนคูเวอร์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเห็นได้ไม่ยาก และที่นี่ก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีตลาดชาวสวนในท้องถิ่นกระจายอยู่ทุกที่ และยังมีแอปเจ๋งๆ อย่าง TapMap ที่คุณสามารถดาวน์โหลดเพื่อดูตำแหน่งของจุดบริการน้ำดื่มสาธารณะที่ใกล้ที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองยังเป็นมิตรต่อคนเดินถนนอีกด้วย โดยมีเครือข่ายเลนจักรยานที่กำลังขยายตัวขึ้นจากถนน 10th Avenue ทางด้านตะวันตก
แวนคูเวอร์วางแผนที่จะก้าวขึ้นเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกภายในปี 2563 โดยการลดการปล่อยคาร์บอนร้อยละ 33 และยังมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้เพิ่มให้ได้อีก 150,000 ต้นด้วย เราขอชื่นชมในความมุ่งมั่นของเมืองแห่งนี้
นิวยอร์ก
เมื่อคุณนึกถึงคำว่า ‘ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม’ นิวยอร์ก ซิตี้น่าจะเป็นสถานที่สุดท้ายที่ผุดขึ้นมาในใจ แต่ด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัยเกือบ 2 ล้านคนที่อัดแน่นอยู่ในเกาะแมนแฮตตันที่มีขนาดเพียง 22.7 ตารางไมล์ เมืองแห่งนี้จึงจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างยั่งยืน
“เดอะ บิ๊ก แอปเปิ้ล” มีอัตราการเป็นเจ้าของรถยนต์ต่ำที่สุดทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ผู้อยู่อาศัยกว่า 1.5 ล้านคนใช้รถไฟใต้ดินในการสัญจร ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวอยู่ในระดับที่ต่ำมาก นอกจากนี้ อาคารสูงและอพาร์ทเม้นท์มากมายนับไม่ถ้วน (ซึ่งทำให้ผู้คนใช้พื้นที่น้อยกว่าและใช้ทรัพยากรร่วมกัน) ยังมีส่วนช่วยให้เมืองแห่งนี้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวมอีกด้วย
โซล
ผู้นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของโลกอย่างกรุงโซลคือต้นฉบับ “เมืองอันชาญฉลาด” แห่งหนึ่งของโลก ที่การใช้เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อชีวิตของสาธารณชนและการวางผังเมือง
ตัวอย่างเช่น กรุงโซลรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับเมือง (รวบรวมจากพลเมือง อุปกรณ์ และเครื่องจักรต่างๆ) อย่างเปิดเผยผ่านทางอินเตอร์เน็ต ข้อมูลเหล่านี้บางส่วนนำมาใช้เพื่อให้ข้อมูลอัพเดตสดและสถิติของระบบขนส่งสาธารณะแบบบูรณาการของเมือง เพื่อให้ผู้คนทราบว่าพวกเขาใช้รถไฟมากแค่ไหน และเวลาใดเหมาะที่สุดในการใช้บริการ ซึ่งทำให้ผู้ดำเนินการรถไฟสามารถจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น และช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นเช่นกัน