GO Blog | EF ประเทศไทย
ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการเดินทาง ภาษา และวัฒนธรรมโดย EF Education First
Menuรับโบรชัวร์ฟรี

3 วิธีในการหลอกให้สมองของคุณเรียนภาษาใหม่

3 วิธีในการหลอกให้สมองของคุณเรียนภาษาใหม่

การเรียนภาษาใหม่เป็นสิ่งที่คุ้มค่าและสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่บางครั้งสมองของเราก็ดูเหมือนจะไม่ยอมทำตามที่เราต้องการ

ในฐานะผู้ที่ได้เรียนรู้ 4 ภาษาใหม่ตั้งแต่ต้น ฉันรู้ว่ามีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมซึ่งคุณสามารถนำไปใช้ได้เพื่อเอาชนะอุปสรรคในการเรียนภาษา และเพื่อเร่งการเรียนรู้ของคุณอย่างเต็มที่

นี่คือ 3 วิธีหลักของฉันที่จะช่วยหลอกสมองของคุณให้เรียนรู้ภาษาใหม่ได้เร็วขึ้น

1. สร้างความรู้สึกเร่งด่วน

ปัญหาที่พบได้บ่อยเมื่อเรียนภาษาใหม่คืออะไรน่ะหรือ? ไม่มีเวลาไงล่ะ

หลังจากทำงานหรือเรียนหนักมาทั้งวัน การให้สมองของคุณต้องมาพบกับข้อมูลปริมาณมหาศาลอาจทำให้สมองปฏิเสธที่จะเรียนภาษาใหม่ไปเลยด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ สมองไม่ต้องการใช้พลังงานเพิ่ม!

แล้วคุณจะสู้กลับอย่างไร?

  • เข้าคลาสกับคนจริงๆ

คลาสอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคลาสออนไลน์ คลาสตัวต่อตัว หรือเวิร์คช็อปช่วงวันเสาร์ เป้าหมายคือการให้ใครสักคนคอยกระตุ้นให้คุณมีความรับผิดชอบ การผูกมัดตนเองให้ไปพบกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะการเข้าคลาสและพบกับครูผู้สอนจะช่วยสร้างความกดดันในระดับที่เหมาะสมได้

  • ติดตามความก้าวหน้าของคุณ**…**แล้วนำไปแชร์

คุณเคยคิดจะบันทึกเสียงตัวคุณเองในไฟล์เสียงหรือวิดีโอเพื่อติดตามความก้าวหน้าของคุณไหม? หรือจะแชร์เรียงความ จดหมายฉบับล่าสุดของคุณ หรือสำนวนโปรดของคุณบนโซเชียลมีเดียดีล่ะ? มีชุมชนเรียนภาษาขนาดใหญ่บน Twitter รวมทั้งกลุ่มใน Facebook มากมายที่จะช่วยให้คุณเดินหน้าเรียนภาษาต่อไป แล้วแชร์ความคืบหน้ากลับไปยังกลุ่ม

  • ไม่เปิดโอกาสให้สมองของคุณหลบหนีจากภาษาเป้าหมาย

การฟังเพลงระหว่างทางไปโรงเรียนหรือไปทำงาน ชมภาพยนตร์หรือรายการโชว์บน Netflix ในช่วงสุดสัปดาห์ อ่านนิตยสารระหว่างรับประทานอาหารเช้า หรือโพสต์ข้อความเป็นภาษาเป้าหมายของคุณบนโซเชียลมีเดียล้วนเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเริ่มต้นเรียนรู้อย่างจริงจังของคุณ

คุณสามารถทำได้แม้กระทั่งติดป้าย post-it ลงบนสิ่งของทั่วบ้านเป็นภาษาเป้าหมายของคุณ ด้วยวิธีนี้ คุณจะได้พบกับคำศัพท์ใหม่ๆ ตลอดทั้งวัน เป้าหมายคือการส่งข้อความถึงสมองของคุณว่าคุณต้องใช้ภาษานี้…เพราะมันอยู่รอบตัวคุณทุกที่

2. ทำให้การเรียนรู้ของคุณเป็นส่วนตัวมากที่สุด

สมองของเรามีแนวโน้มจะลืมสิ่งที่เราไม่ต้องการ หรือสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าสนใจ ที่จริงแล้ว พวกเราส่วนใหญ่บ่นถึงการมีความจำที่ไม่ดีและไม่สามารถจำคำศัพท์ใหม่ๆ ได้ ฯลฯ แต่นั่นถือเป็นเรื่องธรรมชาติเมื่อพิจารณาถึงปริมาณข้อมูลที่เข้าถล่มสมองของเราในทุกๆ วัน

ส่วนภารกิจของคุณน่ะหรือ? ก็คือการออกอุบายให้สมองของคุณเชื่อว่าคำในภาษาต่างประเทศเหล่านี้มีความหมาย จำเป็นต้องใช้ และเป็นส่วนตัว

  • ใช้ภาพของคุณเอง

ครั้งหน้าที่คุณทำแฟลชการ์ดสำหรับคำว่า “dog” ในภาษาสเปน ฝรั่งเศส หรือเยอรมัน คุณควรรู้ว่าสมองของคุณมีแนวโน้มจะจำคำได้มากขึ้นหากคุณถ่ายรูปสัตว์เลี้ยงของคุณเองแล้วใช้เป็นหน้าแฟลชการ์ดแทนที่จะใช้คำแปลภาษาอังกฤษของคำนั้นๆ เป็นต้น

และการทำสิ่งนี้บนสมาร์ทโฟนของคุณก็ง่ายมากๆ เพียงติดตั้งแอปแฟลชการ์ดฟรี เช่น Quizlet หรือ AnkiApp แล้วอัปโหลดภาพของคุณเอง

  • เลือกสำนวนที่สำคัญแทนการท่องจำลิสต์

ให้คุณเลือกคำที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ชีวิต กิจวัตร และความสัมพันธ์ของคุณเองแทนการจำลิสต์คำศัพท์

เช่น เป็นเรื่องปกติที่คุณจะเรียนคำที่ใช้เรียกอาชีพต่างๆ เมื่อคุณเริ่มต้นเรียนภาษาใหม่ แต่แทนที่จะท่องลิสต์ตำแหน่งงานที่ยืดยาว ให้คุณเริ่มด้วยอาชีพของคุณเอง ของคนรัก ของพ่อแม่ หรือของเพื่อนรักของคุณ คุณมีแนวโน้มที่จะได้ใช้สิ่งที่คุณเรียนมากขึ้น คุณจึงจำสิ่งเหล่านั้นได้นานขึ้น

  • เขียนเกี่ยวกับตัวเองให้เร็วที่สุด

ใช้คำศัพท์ใหม่เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตของคุณเอง และเพื่ออธิบายความรู้สึก ความคิดเห็น และเรื่องราวส่วนตัวของคุณแทนการเขียนตามตัวอย่างในหนังสือเรียนทั่วไป สิ่งที่คุณเห็นในตำราคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ไม่ใช่ปลายทาง ปลายทางที่แท้จริงคือการใช้ภาษาในชีวิตจริง และใช้อย่างเป็นธรรมชาติและมีประโยชน์

3. เรียนรู้ที่จะท่องซ้ำๆ ด้วยวิธีที่ได้ผลจริง

บางคนสามารถจำตารางกริยาภาษาอังกฤษหรือสเปนที่พวกเขาได้เรียนในชั้นมัธยมทั้งหมดได้อย่างแม่นยำ แต่… ลองขอให้คนเหล่านี้ผันกริยา ใช้คำเหล่านี้ในบริบท หรือนำไปใช้ในระหว่างเล่าเรื่องดูสิ…แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไมการท่องเพื่อให้จำได้ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป

ในระหว่างที่คุณเรียนรู้ การท่องจำก็มีประโยชน์ของตัวมันเอง ความลับไม่ใช่การอัดข้อมูลเข้าไปทีละมากๆ แต่เป็นการท่องซ้ำๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ทำความคุ้นเคยกับการแบ่งจำเป็นช่วงๆ **(**spaced repetition)

ในหนังสือเรื่อง “Fluent Forever: How to Learn Any Language and Never Forget It” ผู้ที่พูดได้หลายภาษาอย่างเกเบรียล ไวเนอร์ (Gabriel Wyner) แนะนำให้เรารู้จักกับเทคนิคการแบ่งจำเป็นช่วงๆ สำหรับการเรียนรู้ภาษาที่สอง เป้าหมายคือการท่องศัพท์ซ้ำๆ เป็นระยะในช่วงเวลาที่ยาวขึ้นและมีระยะห่างนานขึ้นแทนการอัดข้อมูลเข้าไปทีละมากๆ แล้วไม่กลับมาดูสื่อของคุณอีกเลย

เป้าหมายคือการให้สมองของคุณได้สัมผัสกับภาษาเป้าหมายในช่วงที่สมองกำลังจะลืมภาษานั้น อย่างที่ไวเนอร์ได้กล่าวไว้ “ในช่วงเวลา 4 เดือน เมื่อคุณฝึกฝนเป็นเวลา 30 นาทีในแต่ละวัน คุณสามารถคาดหวังที่จะเรียนรู้และจดจำแฟลชการ์ด 3600 ใบได้ โดยมีอัตราความแม่นยำ 90-95%” เอาเลยพวกเรา!

  • ใช้การมองเห็นให้มากขึ้น

จำที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการเรียนรู้แบบเป็นส่วนตัวด้วยการใช้ภาพและแฟลชการ์ดของคุณเองได้ไหม?

การใช้ภาพของคุณเองไม่เพียงช่วยให้สมองของคุณจำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่การค้นหาคำภาษาต่างประเทศบน Google Images แล้วบันทึกภาพเหล่านั้นลงในโทรศัพท์ของคุณเพื่อใช้เป็นแฟลชการ์ดสามารถเสริมความจำได้จริงๆ ลองใช้แฟลชการ์ดที่คุณปรับแต่งเองด้วยภาพสนุกๆ สถานที่ที่คุณรู้จัก วันหยุดของครอบครัว หรือหน้าของคนที่คุณรัก คุณจะจดจำคำเหล่านั้นได้ดีขึ้นหลังจากที่ได้ทบทวนซ้ำมากกว่าการใช้เฉพาะคำศัพท์อย่างแน่นอน

  • ใช้ซ้ำและนำสิ่งที่คุณเรียนไปใช้ทันที

การจำลิสต์กริยาทั้งหมดไม่เหมือนกับการรู้วิธีนำคำเหล่านั้นไปใช้ และสมองของเรามีแนวโน้มที่จะจำสิ่งต่างๆ เมื่อได้นำไปใช้ในบทสนทนาในชีวิตจริงมากกว่า

การนำสิ่งที่คุณเรียนไปใช้โดยการพูดคุยกับครูผู้สอน เพื่อนร่วมชั้น หรือกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะแรงจูงใจภายนอกทำให้การเรียนรู้ของเราดำเนินต่อไป นอกจากนี้ คุณยังสามารถฝึกเขียนคำเดิมในประโยคที่แตกต่างกันอย่างน้อย 10 ประโยคทันทีที่คุณได้เรียนคำนั้น การใช้ซ้ำในบริบทไม่เพียงช่วยให้คุณจำได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้คุณเข้าใจสิ่งที่คุณเพิ่งได้เรียนรู้ด้วย

ยกระดับการเรียนภาษาของคุณให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นเรียนภาษากับเรา
รับจดหมายข่าวเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ภาษา และวัฒนธรรมลงทะเบียน